น้ำขึ้นปลาหาย…น้ำลดปาล์มตาย: คำให้การชาวบ้าน เมื่อน้ำเขื่อนท่วมน้ำโขง

โดย ธนกฤต โต้งฟ้า

“น้ำโขงขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปี” ช่วงเดือนกรกรฏาคมถึงกันยายนที่ผ่านมา สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานกลับมาวิกฤตอีกครั้ง โดยเฉพาะอ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ สาเหตุน้ำท่วมขังนานกว่าสองเดือน  เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเกิดจากการระบายน้ำของเขื่อนในประเทศจีนและในประเทศลาว ที่สร้างความกังวลให้กับคนไทยที่อาศัยอยู่ในแถบในลุ่มน้ำโขง

“ทุกปีฝนตกหนัก น้ำป่าเข้าท่วมสวนสองสามวันก็ลด แต่ปีนี้ไม่มีน้ำป่าเช่นทุกปี กลับเป็นน้ำโขงที่เอ่อล้นเข้าท่วมสวน ปาล์มถูกน้ำท่วมขังนานเกือบสามเดือน” ชาวบ้านบุ่งคล้าคนหนึ่ง กล่าวด้วยสีหน้าสิ้นหวังตบท้ายด้วยคำพูดตัดพ้อว่า คงไม่เสี่ยงปลูกอะไรตรงนี้อีกแล้วพร้อมกับชี้ไปทางต้นปาล์มกว่า 400 ต้น ที่กำลังยืนต้นตาย

ชุมชนตำบลบุ่งคล้า เป็นชุมชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำเกษตรกรรมเป็นหลัก จึงต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำโขงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตร อย่างไรก็ตามในแต่ละปีน้ำในแม่น้ำโขงมีปริมาณที่ไม่แน่นอน บางปีก็เอ่อล้นท่วมพื้นที่เกษตรเสียหาย บางปีก็แห้งขอดไม่เพียงพอสำหรับการทำเกษตร แต่ก็ไม่เคยท่วมขังหนักเท่าปีนี้มาก่อน ในรอบ 20 ปี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบึงกาฬ (ปภ.) ได้สรุปรายงานพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเดือนกันยายน 2561 ทั้ง 8 อำเภอ 49 ตำบล 417 หมู่บ้าน ซึ่งมีนาข้าวเสียหายกว่า 58,000 ไร่ พืชไร่กว่า 8,200 ไร่ สวนผลไม้และปาล์มกว่า 1,900 ไร่ และประมงอีกเกือบ 1,000 บ่อ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบกว่า 9,000 หลังคาเรือน ประชาชนได้รับความเสียหายมากกว่า 34,000 คน

“ตอนน้ำโขงขึ้นสูง เข้าท่วมสวน ก็มาพร้อมขี้โคลนที่มีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง ท่วมบ่อปลา ยางพาราก็น้ำท่วมไม่ได้กรีดสองเดือน ต้นปาล์มที่พึ่งเก็บผลผลิตได้แค่ครั้งเดียว จมอยู่ใต้น้ำนานเกือบสามเดือน เมื่อน้ำขึ้นปลาตายหายไปกว่า 5,000 ตัว เมื่อน้ำลดปาล์มตายเกือบหมดสวน ทั้งหมดที่ลงทุนไปหลายแสนเสียหายไปกว่า 90% จะปลูกใหม่ก็คงไม่เสี่ยงแล้วลูกหลานก็ไม่ให้ปลูกแล้ว ก็ไม่รู้จะทำยังไงก็เป็นไปแล้ว ก็แจ้งผู้ใหญ่บ้านไปนานแล้วก็ไม่เห็นท่าทีจะได้รับค่าเสียหายอะไร” นายสุดสาคร นุชิต กล่าว

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมาตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัดภาคอีสานร่วมกับภาคีเครื่อข่าย ได้จัดเวทีสนทนาประชาชนหาทางออกกรณีการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติในแม่น้ำโขง ผมก็มีโอกาสได้เข้าร่วมวงสนทนาพร้อมกับตัวแทนชาวบ้านอีก 8 จังหวัด นำเสนอเกี่ยวกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่คำนวนได้อย่างเป็นสากล ผลการศึกษาผลกระทบจากวิจัยเกี่ยวกับเขื่อนในลุ่มน้ำโขง เห็นได้ชัดว่าผลจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนต่างๆทั้งในลาวและจีน เกิดอัตราการท่วมของน้ำในแม่น้ำโขงได้เป็นกราฟตัวเลขอย่างชัดเจน

“มีการทำการศึกษาโดย (Mekong River Commission: MRC) แล้วว่าถ้ามีการสร้างเขื่อนในจีนเสร็จ จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง กรมทรัพยากรน้ำรู้มา 20 ปีแล้วว่าหากมีการสร้างเขื่อนในจีนน้ำจะท่วมอย่างไร แต่กรมฯ ไม่เคยทำหน้าที่ตัวแทนชาวไทยในการพูดคุยเรื่องนี้กับจีนเลย มีแต่ภาคประชาชนบอกว่านี่เป็นปัญหา มีเครือข่ายพี่น้องเราไปยื่นจดหมายที่สถานทูตจีน แต่สุดท้ายจีนก็ไม่ได้ตอบอะไร” นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้จัดตั้งกลุ่มเสรีลุ่มน้ำโขง กล่าว

เขื่อนไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งหรือการสร้างความมั่งคงทางด้านพลังงานอย่างถ่องแท้ หากแต่เป็นความต้องการของคนบางกลุ่มเท่านั้น ที่เอาประชาชนมาเป็นข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์จากกิจการดังกล่าว ตราบเท่าที่มีเขื่อนในน้ำโขง แม่น้ำโขงก็จะมีผลกระทบอยู่ เมื่อน้ำขึ้นสูงปลาก็จะตายหายไป เมื่อน้ำลดลงปาล์มก็จะตายไปอีก นี่คือเสียงของคำให้การชาวบ้าน และท้ายที่สุดผู้ได้รับผลกระทบจะเข้าถึงกลไกลักษณะใดได้บ้างที่สามารถเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐหรือผู้ประกอบการในประเทศและผลกระทบข้ามพรมแดน

สภาพต้นปาล์มที่ถูกน้ำท่วมขังนานเกือนสามเดือน
สภาพต้นปาล์มที่ถูกน้ำท่วมขังนานเกือนสามเดือน

 

สถาพต้นภาพหลังน้ำลด
สถาพต้นภาพหลังน้ำลด

 

สภาพทุ่งนาและบ่อปลาที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย
สภาพทุ่งนาและบ่อปลาที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย

 

สภาพทุ่งนาหลังน้ำลด
สภาพทุ่งนาหลังน้ำลด

 

--------

Message us