สาละวินสายน้ำแห่งชีวิต ตอน คนหาปลาชายแดนไทยสาละวิน

สุวัต ษมาจิตโอบอ้อม เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสาละวิน

ขอบคุณภาพถ่ายจาก ทีมงานข่าวช่อง 3 รายการ ข่าว 3 มิติ

เพราะชีวิตมีหวัง           ทำให้มีกำลังใจ

ใช้ชีวิตอย่างมีกำไร         พึงพอใจในสิ่งที่มี

อาชีพวิถีชาวประมง        เน้นยึดถือความพอเพียง

ใช้ทรัพยากรน้ำคู่เคียง     อนุรักษ์สายน้ำให้มีความยั่งยืน

อาชีพประมงของคนในชุมชนที่นี่ ถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ สามารถนำมาจุนเจือครอบครัว เป็นอาชีพที่สามารถสร้างความสุขได้ เพราะพวกเขามีความหวัง พึงพอใจในสิ่งที่ตนมี ส่งผลต่อกำลังใจสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นมาเริ่มจากตัวเขาเอง และเกิดการแบ่งปันความสุขนั้นผ่านความรู้สึก ขยายสู่ไปยัง ครอบครัว ชุมชน และนอกชุมชน และที่สำคัญที่สุด พวกเขารวมทั้งคนในชุมชนอยู่กันอย่างมีความสุข เพราะจากการนำกฎ กติกาชุมชน ไปใช้อย่างจริงจัง

ชุมชนสบเมยเป็นชุมชนชายแดนมีทิวทัศน์ที่สวยงาม รายล้อมไปด้วยภูเขา และมีแม่ใหญ่ถึงสองสายไหลผ่าน จุดที่ตั้งของชุมชน เป็นจุดระหว่างแม่น้ำเมยไหลบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสองสายนี้เป็นเขตพรมแดนระหว่าง ไทย – เมียนมาร์

นอกจากนี้ ชุมชนสบเมยมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำที่มีแม่น้ำเมยไหลบรรจบกับสาละวิน ถือว่าแหล่งบริเวณปากน้ำที่สร้างความสมดุลทางนิเวศสูงและเหมาะแก่การทำประมงขนาดเล็กระดับครัวเรือน

ทุกครั้งที่มีแขกแก้วมาเยือนชุมชนสบเมย  พวกเขาจะเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เพราะอิ่มอกอิ่มใจในการรับชมธรรมชาติทั้งสองข้างฝั่งบนแม่น้ำสาละวินในขณะนั่งเรือ และที่สำคัญได้เห็นวิถีชุมชนทำประมงนั่นเอง และแน่นอนว่า เมื่อมาเที่ยวสบเมยทุกคนจะนึกถึงเรื่องประมงกับเรื่องปลา ถือว่าเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของชุมชนสบเมย

คนหาปลาในแม่น้ำสาละวิน
คนแบกปลา ถ่ายโดยเครือข่ายลุ่มน้ำสาละวิน

ลุงหม่อเด เป็นชาวบ้านสบเมยโดยตั้งแต่เกิด บ้านเขาติดริมน้ำสาละวิน โดยสร้างเป็นเรือนแพ เขาเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง อายุราวๆ 50 ปีต้นๆ  เขาเลี้ยงชีพตัวเองด้วยการประมง ถือว่าเป็นนักปราชญ์ชุมชนคนหนึ่งในด้านการหาปลาในแม่น้ำใหญ่ ทุก ๆวัน ลุงหม่อเดจะตื่นแต่เช้าเพื่อหุงข้าว พอหุงข้าวเสร็จ แกจะนั่งเรือเล็กเพื่อไปดูแน่งที่ดักไว้ แกใช้เวลาในการดูแน่งแต่ละครั้งราว 20-30 นาที การได้ปลาแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน บางครั้งได้ปลาเล็ก บางครั้งได้ปลาใหญ่ ถ้าได้ปลาเล็กจะไว้บริโภค บางวันถ้าโชคดีได้ปลาใหญ่ แกจะเอาไปขายที่บ้านแม่สามแลบโดยฝากขายกับผู้ที่เดินทางไปบ้านแม่สามแลบ ซึ่งเป็นตลาดศูนย์กลางในลุ่มน้ำสาละวิน แต่บางครั้งถ้าแขกมาเยือน ก็จะขายให้แขก ทุกครั้งหลังจากเสร็จจากการดูแน่ง แกจะขี่เรือกลับ เพื่อนำปลาตัวเล็กมาบริโภค โดยการทำเมนู ทอดบ้าง ต้มแกงบ้าง และบางครั้งถนอมอาหารด้วยวิธีหมักเกลือตากแห้ง หรือตำเป็นน้ำพริกป่น สามารถเก็บไว้ได้นาน

ลุงหม่อเดนั้นมีรายได้หลักจากการขายปลาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถนำมาจุนเจือครอบครัวได้เป็นอย่างดี ผมได้สังเกตเห็นใบหน้าแกเต็มไปด้วยรอยยิ้มขณะนั่งสนทนากัน เพราะเขาภูมิใจที่มีอาชีพเป็นประมง เขาจะมีความสุขกับการหาปลา วันไหนได้ปลาใหญ่ เขาจะดีใจมาก หลังจากดูแน่งเสร็จจะรีบกลับทันที และพอกลับถึงบ้าน ลูก ๆภรรยา รวมทั้งญาติ จะดีใจด้วย นอกจากนี้ หากมีแขกมา เยี่ยมเยือน มาเที่ยวในชุมชน แขกจะดีจะดีใจเป็นพิเศษ เพราะได้ปลาใหญ่สามารถทำเมนูได้อย่างหลากหลาย และการมาเที่ยวชุมชนสบเมย ถ้าได้กินปลา ความรู้สึกสามารถสัมผัสชุมชนและแม่น้ำสาละวินได้มากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่า

คนหาปลานั้น นอกจากตัวเองได้รับความสุขแล้วความสุขนั้นยังส่งทอดไปยังคนรอบข้างอีกด้วย

คือครอบครัว คนนอกชุมชนที่มาเที่ยวชุมชนสบเมย เป็นชุมชนริมสาละวินที่ได้ปริมาณปลาจากการประมงมากที่สุด เพราะหากปลาขึ้นมาวางไข่ ต้องผ่านชุมชนแห่งนี้ก่อน อีกทั้งมีจุดบริเวณปากน้ำที่เหมาะต่อการใส่แน่งจากการคำนวณของแม่ค้าตลาดกลาง (บ้านแม่สามแลบ) อยู่ที่ 1 ตันกว่า ต่อปี ไม่รวมไว้บริโภคในครัวเรือนและขายที่อื่น

เรือนแพชุมชนสบเมย

ในช่วงฤดูฝน เป็นช่วงที่ได้ปริมาณปลามากกว่าฤดูอื่น ช่วงแรก ระหว่างเดือนกลางเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน ช่วงที่สอง ช่วงระหว่างเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ ปลาที่ขึ้นชื่อและถือว่าเป็นปลาเศรษฐกิจ คือ ปลาคม เนื้ออร่อย นุ่ม หวาน สำหรับราคา ราคาอยู่ที่ในชุมชน 150 บาท/ กก. ตลาดกลาง (บ้านแม่สามแลบ) 180 – 200 บาท/ กก.

วิธีการหาปลาของลุงหม่อเดนั้น ใช้ภูมิปัญญาของชาวบ้าน ทำให้ไม่เป็นการทำลายระบบนิเวศ เขาเลือกใช้เครื่องมือ เช่น แน่งและไซดัก และจะเลือกพื้นที่ตรงแม่น้ำสบเมยลงไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน ในช่วงฤดูร้อน เขาจะไม่ใส่แน่งในบริเวณนี้ เพราะแม่น้ำสบเมยเล็กลง และปล่อยให้ปลาบางชนิดขึ้นอพยพวางไข่ช่วงฤดูร้อน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ป้องการการสูญพันธุ์ของปลาบางชนิด นอกจากนี้แกจะเลือกพื้นที่อื่นที่เหมาะสมตามที่ตัวเองต้องการ บางครั้งถ้าสถานการณ์ดีจะลงไปใส่แน่งถึงรัฐกะเหรี่ยงฝั่งพม่าอีกด้วย จากการที่อยู่ในชุมชนชายแดน ความรู้สึกของเขานั้น ไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้น และต่างก็มีมิตรภาพดี ๆส่งให้กันระหว่างชุมชนสองฝั่งอย่างสม่ำเสมอ

ในอดีตปลาในแม่น้ำสาละวินนั้น ถูกทำลายอย่างยับเยินด้วยการใช้เครื่องที่ผิดวิธี เช่น การช็อตปลา การระเบิดปลาในน้ำ แต่หลังจากที่ชุมชนริมน้ำสาละวินสองข้างฝั่งแม่น้ำ ร่วมมือจัดทำกฎระเบียบชุมชนขึ้น ทำให้การใช้เครื่องมือผิดวิธีในการหาปลาไม่มีเกิดขึ้นบนแม่น้ำสาละวินอีก ส่งผลดีต่อพันธุ์ปลา รวมทั้งระบบนิเวศอื่น ๆในแม่น้ำ ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีรายได้ ผู้คนมีความสุข ด้วยการอนุรักษ์และใช้อย่างยั่งยืน

ทุกวันนี้ ลุงหม่อเด รวมทั้งคนในชุมชนหาปลาอย่างมีความสุข เต็มไปด้วยรอยยิ้มที่ซ่อนความกังวลอยู่ภายใน เพราะเขื่อนฮัตจีที่ถูกผลักดันจากบริษัทซิโนไฮโดร จากประเทศจีน บริษัทการไฟฟ้าการผลิตแห่งประเทศไทย และกรมพลังงานน้ำจากประเทศเมียนมาร์ ที่ปัดฝุ่นโครงการมีแผนผลักดันจะเขื่อนฮัตจีเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าปัจจุบัน ทางจีนไม่ได้บรรจุ เขื่อนฮัตจี ในแผนพลังน้ำ แต่ชาวบ้านก็ยังไม่อุ่นใจ เพราะโครงการพร้อมที่จะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา


--------

Message us