เสียงที่ถูกละเลย : โครงการผันน้ำยวม

โดย กนกพร จันทร์พลอย

ชาวบ้าน 3 จังหวัดเหนือค้านโครงการแสนล้าน ผันน้ำยวมเติมเขื่อนภูมิพล หวั่นผืนป่าสมบูรณ์-ต้นน้ำย่อยยับ กรมชลย่องเปิดเวที คนท้องถิ่นสวน-ประชาชนรับผลกระทบอื้อ นับแค่ 25 ครัวเรือน[1]

ค้านโครงการแสนล้านผันน้ำยวมเติมเขื่อนภูมิพล หวั่นผืนป่าสมบูรณ์-ต้นน้ำย่อยยับ[2]

ชาวบ้าน 3 จังหวัดเหนือ ค้านโครงการ ผันน้ำยวมเติมเขื่อนภูมิพล หวั่นป่าสมบูรณ์-ต้นน้ำย่อยยับ[3]

ชาวบ้านลุ่มน้ำยวม จี้ ‘รมว.กษ.’ ค้านโครงการผันน้ำยวม-สาละวิน ลงเขื่อนภูมิพล[4]

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา พาดหัวข่าวหลายสำนักข่าวทางเลือก ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการท่าทีความกังวลของชาวบ้านที่มีต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก[5] หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโครงการผันน้ำยวม ในการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ ในขั้นตอนงานสำรวจ ออกแบบ และมีการรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2562 ซึ่งนับว่าเป็นการรับฟังความเห็นครั้งสุดท้ายของขั้นตอนนี้

พื้นที่หมู่บ้านแม่เงา (คนในพื้นที่เรียกว่า “สบเงา” เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่อยู่ระหว่างแม่น้ำยวมและแม่น้ำเงามาสบกัน) ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่อยู่ในส่วนของอุทยานแห่งชาติแม่เงา ลักษณะของพื้นที่จึงเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ในฤดูฝนนั้น ปริมาณน้ำจะมาก ทำให้น้ำท่วมทุกปี  ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ พึ่งพาอาศัยกันแบบวิถีปกาเกอะญอ และชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีสัญชาติ

พื้นที่ดังกล่าว ถูกจัดเป็นพื้นที่หนึ่งในแผนของโครงการผันน้ำยวม หากมีการดำเนินการ จะมีการตั้งสถานีสูบน้ำซึ่งทำหน้าที่สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลำน้ำยวม ด้วยความดัน ส่งต่อให้กับอุโมงค์อัดน้ำตั้งอยู่บริเวณบ้านสบเงา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำยวม ห่างจากตัวเขื่อนประมาณ 22 กิโลเมตร ตำแหน่งอาคารสถานีสูบน้ำตัวอาคารจะวางอยู่บนแนวถนนทางหลวงหมายเลข 105

อีกทั้งในเรื่องของการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำคอนกรีต ที่ถูกออกแบบให้เจาะทะลุภูเขาและผืนป่า จากบ้านแม่เงา ถึงลำห้วยแม่งูด ตำบลนาคอเรือ จังหวัดเชียงใหม่

ต้องมีการขุดเจาะผ่านป่าสมบูรณ์ผืนท้าย ๆของภาคเหนือและประเทศไทย เป็นป่าต้นน้ำชั้น 1A[6] ที่เป็นป่าสมบูรณ์บริเวณรอยต่อ 3 จังหวัดคือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก หากมีการสร้างโครงการผันน้ำยวมขึ้น อาจเป็นการสร้างปัญหา ผลกระทบให้กับชาวบ้านมากขึ้น ซึ่งปัญหาในเรื่องเดิมยังคงอยู่ และยังไม่ถูกแก้ไข

ก่อนวันงานประชุมฯ เราได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่หมู่บ้านสบเงา ฟังเสียงของชาวบ้าน ว่าเขามีความคิดเห็นต่อโครงการนี้อย่างไรบ้าง เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนให้ เห็นถึงความกังวลในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่

การเกิดขึ้นของกลุ่มเยาวชนพื้นที่ในเงา (คนในพื้นที่เรียกว่า “ในเงา” ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านที่อยู่ในแม่น้ำเงา)

กลุ่มเยาวชนที่เราได้ร่วมพูดคุยด้วยนั้น มาจากหลายหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ในเงา ไม่ว่าจะเป็นบ้านนาดอย บ้านแม่หลุย บ้านแม่ทะลุ และบ้านสบเงา ซึ่งส่วนใหญ่นั้นออกไปเรียนที่วิทยาลัยการอาชีพแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงไม่ค่อยได้รับรู้สถานการณ์ในพื้นที่ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้นเราจึงได้ชวนพูดคุย ทำความเข้าใจ อัพเดทสถานการณ์ในหมู่บ้านให้กับเยาวชนได้เข้าใจไปพร้อมกัน

หลังจากที่เราได้พูดคุย อัพเดทสถานการณ์ในพื้นที่ให้ฟังแล้ว ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่า เราต้องการแสดงจุดยืนเพื่อคัดค้านโครงการผันน้ำยวมที่จะเกิดขึ้นนี้ เนื่องจากความคิดเห็นของชาวบ้านจากเวทีรับฟังความเห็นในแต่ละครั้งที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีการบันทึกเข้าไปในรายงาน ทำให้ชาวบ้านและเยาวชนในพื้นที่เกิดความกังวล เราจึงช่วยกันทำการรณรงค์โดยการทำป้ายคัดค้านเขื่อนน้ำยวม เป็นการแสดงความคิดเห็นของพวกเราว่าพวกเราไม่ต้องการโครงการผันน้ำยวม

ในวันประชุมปัจฉิมนิเทศฯ บรรยากาศเป็นไปอย่างทางการ ฝนตกปรอยตลอดวัน มีผู้เข้าร่วมประมาณ 160 คน จากหน่วยงานรัฐ และชาวบ้านหมู่บ้านต่าง ๆในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ แต่ชาวบ้านบางส่วนไม่สามารถสัญจรมาได้ เนื่องจากน้ำท่วมในพื้นที่หมู่บ้านและฝนตกหนักตลอดวัน

ช่วงเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ชาวบ้านได้บอกถึงความกังวลถึงผลกระทบต่าง ๆในพื้นที่ บอกปัญหาถึงการรับฟังความคิดเห็นว่าความเห็นของพวกเขาไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในรายงานเลย พร้อมกับมีการชูป้ายคัดค้านการสร้างโครงการผันน้ำยวม กลุ่มเยาวชนและชาวบ้านชูป้ายอย่างพร้อมเพรียงกัน

ตัวแทนชาวบ้านบ้านสบเงาได้กล่าวไว้ในเวที

“ผมเป็นห่วงเรื่องผลกระทบ ผมอยู่ในฝั่งบ้านสบเงา ทุกวันนี้น้ำยังท่วมทุกปี หากมีการกั้นเขื่อนขึ้นไป น้ำจะท่วมมากกว่านี้แน่นอน ชาวบ้านในพื้นที่กินไม่ได้นอนไม่หลับ มีความทุกข์ มีความกังวล เรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน อยากให้สำรวจให้ครอบคลุมกว่านี้ อยากฝากไว้ด้วย”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงการพัฒนาต่าง ๆที่เกิดขึ้นนั้น มีทั้งผลดีและผลเสีย แต่จะดีกับฝ่ายใดหรือเสียกับฝ่ายใดนั้น ควรมีการประเมินผลอย่างรอบคอบและโปร่งใส เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหา และวางแผน มาตรการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าการมองข้าม ละเลยเสียงของชาวบ้าน เยาวชน คนรุ่นหลัง หรือแม้แต่เสียงของธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถได้ยินได้เลย และการเกิดขึ้นของกลุ่มเยาวชนในครั้งนี้ สะท้อนพลังของคนรุ่นใหม่ที่กล้าจะลุกมาเพื่อปกป้องบ้าน ชุมชน สิ่งแวดล้อมของพวกเขา และยังได้สร้างพลังใจให้กับทั้งชาวบ้าน ครอบครัว สร้างพลังใจกับเราในการทำงานเพื่อสังคมต่อไปอีกด้วย นี่คงเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มเยาวชนในการรวมตัวกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไปในอนาคต


[1] สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=23378&fbclid=IwAR28VzS7xG9-s5TfWpXu7TmgoHVp8VP-rV52t0YZjjTF8jVrmwguYGlmde0

[2] สำนักข่าวนายหน้า : https://www.naewna.com/likesara/431769?fbclid=IwAR1X-MYU6oYVBBpvpm7txp2eENZnFXFvB-PEWyxHHQQqX0weTGusTwKNMgA

[3] สำนักข่าวข่าวสด https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_2780939

[4] สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/843197?fbclid=IwAR3Sum8Eu_fcnLicdKgfEmtkQbN8ZCsWRb25urrmPlUznaTsCin4XzJ4xso

[5] รายละเอียดโครงการผันน้ำยวมhttp://www.aei.nu.ac.th/document%202/2.%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%20%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%AF—%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88.pdf

[6] ความหมายเกี่ยวกับชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ http://www.dnp.go.th/watershed/class.htm

--------

Message us