ต้นกล้าสาละวิน
บันทึกการเดินทางและภาพโดย กนกพร จันทร์พลอย
ทำไมจึงต้องปกป้องแม่น้ำสาละวิน เราตั้งคำถามกับตัวแทนกลุ่มเยาวชน เขาตอบด้วยสายตาและน้ำเสียงที่หนักแน่นว่า “สาละวินคือชีวิต เป็นลมหายใจของพวกเรา พวกเราหนีจากความขัดแย้งและภัยสงคราม เพื่อมาอยู่อาศัยที่นี่ และยังต้องมาเจอสถานการณ์เขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ที่อาจจะเป็นอีกความขัดแย้งหนึ่งในอนาคต ซึ่งพวกเราพร้อมจะลุกขึ้นสู้กับมัน แม้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม”
เรือหางยาวบรรทุกสิ่งของบริจาค ล่องเรือตามแม่น้ำสาละวินไปยัง ค่ายผู้ลี้ภัยอูแวโกลหรืออูแวถ่า รัฐกะเหรี่ยง
ฉัน เด็กป.ตรี จบใหม่ที่ก้าวเข้ามาเรียนรู้ในบทบาทอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน เวลาก็ผ่านไป 8 เดือนกว่า แล้ว ย้อนกลับไปเมื่อตอนแรกจนมาถึงตอนนี้ ความรู้สึกหลายอย่างเกิดขึ้นมากมาย ทั้งตื่นเต้น ท้าทาย สนุก ผิดหวัง เหนื่อย ล้า ฉันเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง คนรอบข้าง และสังคม ทำให้เกิดความศรัทธาและความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำอยู่ การมาเป็นอาสาสมัครนักสิทธิฯ ในมูลนิธิเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เรียนรู้ในประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ฉันตั้งใจไว้ และการเดินทางทำให้ฉันพบการเรียนรู้และประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ได้เติมพลังให้กับตัวเอง ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ก็เช่นกัน
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ฉันมีโอกาสได้เดินทางไปยังค่ายผู้ลี้ภัยอูแวโกล[1] เพื่อไปร่วมจัดงานค่ายเยาวชนสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 12-13 มีนาคม 2562 และตระเตรียมการแสดงพลังของเยาวชนลุ่มแม่น้ำสาละวิน ในงาน“เก่อต่อ สาละวิน Let’s Protect Salween” ที่จะจัดขึ้นวันที่ 14 มีนาคม 2562 นี้ อีกทั้งพวกเรายังได้รวบรวมเสื้อผ้า ของใช้จำเป็น ยารักษาโรค ข้าวสารอาหารแห้ง ที่ได้รับจากการเปิดรับบริจาคไปมอบให้กับกลุ่มพี่น้องและเยาวชนชาวกะเหรี่ยงในค่ายอูแวโกลอีกด้วย
เด็กจำนวนหนึ่ง ในค่ายอูแวโกล ช่วยพวกเราขนของบริจาค ไปยังหมู่บ้าน ซึ่งมีระยะทางประมาณ 1.5 กม.
ค่ายอพยพตามแนวชายแดนไทย-พม่า (ในประเทศไทย) มีทั้งหมด 9 แห่ง เป็นค่ายที่รองรับชาวคะเรนนี 2 แห่ง และค่ายรองรับชาวกะเหรี่ยง 7 แห่ง ส่วนพื้นที่ ริมน้ำสาละวินในรัฐกะเหรี่ยงตรงข้าม อ.แม่สะเรียง มีค่ายผู้พลัดถิ่นตั้งเป็นทางการ 2 แห่ง คือ ค่ายอีตูท่า กับ ค่ายอูแวโกล ซึ่งค่ายที่เราจะไปทำกิจกรรมคือ ค่ายอูแวโกลนั่นเอง ชาวบ้านในค่ายอูแวโกล อพยพมาในช่วงปลายปี 2548 จากเขตตองกู ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงใหม่ เนปีดอว์ การตั้งเมืองหลวงใหม่ครั้งนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการหนีภัยเพราะมีการกวาดล้างชาวบ้านกะเหรี่ยง และครั้งนั้นเกิดการสู้รบอย่างรุนแรงทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง[2]
บรรยากาศการแจกจ่าย เสื้อผ้า ให้กับพี่น้องชาวกะเหรี่ยง ณ ลานหน้าโรงเรียนภายในค่ายอูแวโกล
ค่ายเยาวชนสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดโดยกลุ่ม Mekong Youth Assembly, กลุ่มเครือข่ายเยาวชนลุ่มแม่น้ำสาละวิน และมูลนิธิเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้เข้าร่วมเป็นเยาวชนชาวกะเหรี่ยงในค่ายผู้ลี้ภัยอูแวโกล, อีตูท่า ในรัฐกะเหรี่ยงและกลุ่มเยาวชนลุ่มแม่น้ำสาละวินในฝั่งไทย
วัตถุประสงค์ของค่ายเยาวชนคือ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และเข้าใจสิทธิการมีส่วนร่วมในการปกป้องสิ่งแวดล้อม, เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของแม่น้ำสาละวินและปกป้องแม่น้ำสาละวิน และเพื่อให้เด็กและเยาวชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำได้รู้จักกันและช่วยเหลือสนับสนุนกันเพื่อแม่น้ำสาละวิน บรรยากาศในค่ายเป็นไปอย่างเรียบง่าย มีการใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร เพื่อให้ความคิดวิเคราะห์ของเยาวชนแสดงออกมาได้อย่างเต็มที่ และมีพลังที่สุดในช่วงเวลาสองวันก่อนงาน “เก่อต่อ สาละวิน Let’s Protect Salween”
กระบวนการแสดงบทบาทสมมุติ เพื่อให้เยาวชนได้เข้าใจสถานการณ์ภายในชุมชน หากเกิดขึ้นจริงในอนาคต
“ออ-ที-เกอ-ตอ-ที (กินน้ำก็ต้องรักษาน้ำ)
ออ-กอ-เกอ-ตอ-กอ (อยู่บนผืนดินก็ต้องปกป้องผืนดิน)
ออ-ยา-เกอ-ตอ-กุย (กินปลาก็ต้องรักษาลำห้วย)
ออ-เด-เกอ-ตอ-เล (กินเขียดก็ต้องรักษาผา)
Salween in the world River never die
For people for life I like Salween
I love Salween Protect Salween”
เพลงที่กลุ่มเยาวชนช่วยกันฝึกร้องตลอดวัน เพื่อนำไปแสดงในวันงาน “เก่อต่อ สาละวิน Let’s Protect Salween” เนื้อหาในเพลงมีทั้งภาษากะเหรี่ยงและภาษาอังกฤษ เสียงเพลงแห่งความสามัคคี ความหวังได้ดังกึกก้องไปทั่วหมู่บ้าน และยังดังกึกก้องทั่วความทรงจำฉันอีกด้วย
กระบวนการโต้วาทีระหว่างกลุ่มเยาวชนฯ โดยได้ตั้งหัวข้อว่า “เห็นด้วยหรือไม่กับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน” ซึ่งเราได้จัดแบ่งกลุ่มเยาวชนออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่สนับสนุนการสร้างเขื่อน และกลุ่มที่ต่อต้านการสร้างเขื่อน
กระบวนการโต้วาทีของกลุ่มเยาวชนสะท้อนอะไรบ้าง สิ่งแรกคือ ศักยภาพความเป็นผู้นำของกลุ่มเยาวชน ทั้งความกล้าแสดงความคิดเห็นและเผชิญกับสถานการณ์ความเห็นต่าง เช่น กลุ่มที่ต่อต้านการสร้างเขื่อนเห็นว่า แม่น้ำสาละวินนั้น เป็นเหมือนจุดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างกลุ่มเยาวชนฯ ฝั่งไทยและพม่า เป็นแม่น้ำแห่งชีวิตที่ให้น้ำและอาหาร พวกเค้าต้องปกป้องสาละวิน ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนการสร้างเขื่อน เห็นว่า เขื่อนสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศ เยาวชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นกระบอกเสียงสำคัญของการพัฒนา
กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ให้กลุ่มเยาวชนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันโดยไม่ตัดสินว่ามันถูกหรือผิด เป็นกิจกรรมที่สร้างพื้นที่ให้ทุกคนรับฟังความคิดเห็นหรือมุมมองที่แตกต่าง เข้าใจประเด็นที่อาจจะเกิดขึ้นในชุมชนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ว่าเป็นผลกระทบที่ดีหรือไม่ดี เพื่อพิจารณาผลกระทบทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
สิ่งต่อมาที่เห็นคือ กลุ่มคนที่เข้ามาฟัง มีทั้งเด็กเล็ก เยาวชน ไปจนถึงวัยกลางคนและคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งสะท้อนว่าพวกเขามีความกังวลต่อการสร้างเขื่อนที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน วิถีชีวิต ของพวกเขาในอนาคต ว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
บรรยากาศการเล่นเกมส์ในช่วงเช้า ก่อนเริ่มกิจกรรมค่ายเยาวชน เพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับกลุ่มเยาวชนฯ ผู้เข้าร่วม
ทำไมจึงต้องปกป้องแม่น้ำสาละวิน เราตั้งคำถามกับตัวแทนกลุ่มเยาวชน เขาตอบด้วยสายตาและน้ำเสียงที่หนักแน่นว่า “สาละวินคือชีวิต เป็นลมหายใจของพวกเรา พวกเราหนีจากความขัดแย้งและภัยสงคราม เพื่อมาอยู่อาศัยที่นี่ และยังต้องมาเจอสถานการณ์เขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ที่อาจจะเป็นอีกความขัดแย้งหนึ่งในอนาคต ซึ่งพวกเราพร้อมจะลุกขึ้นสู้กับมัน แม้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม”
แพ “NO Salween Dam” ลอยไปกับสายน้ำสาละวิน หลังจากทุกคนปล่อยแพและร้องเพลงร่วมกัน
ในวันงาน “เก่อต่อ สาละวิน Let’s Protect Salween that was organized on 14th March 2019 for International Day of Action for Rivers” ได้ทำให้ฉันเห็นว่า พวกเขามีศักยภาพในการ ปกป้องสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน มีความมั่นใจ และเชื่อมันกับสิ่งที่ทำ ทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการแสดงพลังในวันงาน ทั้งการเดินถือป้าย การร่วมกันร้องเพลง การนำแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เอาเขื่อน และการร่วมกันปล่อยแพ ที่มีข้อความว่า “ไม่เอาเขื่อน” หรือ “NO DAM”
ท้ายสุดแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มเยาวชนฯ นั้นสำคัญมากเพียงใด ฉันเชื่อว่ากลุ่มเยาวชนฯ หรือคนรุ่นใหม่ถือเป็นกำลังสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ พวกเขามีศักยภาพในทางความคิด ความเชื่อที่เป็นของตนเอง ถึงอย่างไรก็ต้องมีการสร้างและเปิดโอกาส เพื่อให้พวกเขาได้มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นให้มากขึ้น และนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดี ด้วยตัวเขาเอง
หวังว่าเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกไปจะเป็นเหมือนกระบอกเสียง ให้เสียงของพวกเขาออกไปสื่อสารให้คนภายนอกได้ตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ที่พวกเขาต้องพบเจอ อย่างตอนนี้ ฉันทำได้เพียงเขียนเล่าเรื่องราวความประทับใจที่เกิดขึ้นนั้นออกมา เพื่อหวังว่ามันจะสร้างความตระหนักให้กับคนภายนอกหรือผู้มีส่วนได้เสียกับการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ได้มากที่สุด ให้มองเห็นต้นทุนทางสังคม สิ่งแวดล้อมที่ซ่อนอยู่ โดยเฉพาะโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ที่อาจจะเกิดขึ้นจริงในอนาคตก็เป็นได้
อ้างอิง
[1] อูแวโกลหรืออูแวถ่า ในบทความนี้ใช้คำว่า “อูแวโกล”
[2] สำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=17264
--------