สาละวิน สายน้ำแห่งชีวิต ตอน อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำแม่แวน ลุ่มน้ำสาขาสาละวิน

สุวัต ษมาจิตโอบอ้อม เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสาละวิน

ภาพกิจกรรมอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ

“อ่อที เก่อตอที    เอาะก่อ เก่อตอก่อ

 เอาะหยะ ก่อตอกุย    เอาะเดะ เก่อตอเล”

แปลว่า  กินน้ำให้รักษาน้ำ ใช้ป่าให้รักษาป่า กินปลาให้รักษาวัง กินเขียดให้รักษาผา

ตามข้อความ หากแปลตามเจตนารมณ์ของคนเฒ่าคนแก่ คือ เพื่อคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่อาจส่งผลกระทบรอบข้างด้วย เช่น หากหาปลาแล้วไปสร้างความเสียหายวังน้ำ ปลาก็จะอพยพที่อื่น เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของปลา เป็นต้น  เป็นเรื่องของความเชื่อถ่ายทอดมายังรุ่นลูกหลานเพื่อให้เกิดจิตสำนึกและตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากร

ในพระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า หากมนุษย์ไม่รักษาปลาและเขียด วันหนึ่งจะได้เห็นเพียงแต่รูปภาพเท่านั้น” ศาสดาจารย์ในชุมชนบ้านแม่แวนได้อ่านไว้ในงานพิธีสืบชะตาแม่น้ำแม่แวน เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะทรัพยากรยิ่งใช้ยิ่งหมด หากอยากใช้ประโยชน์ได้นาน ต้องมีการปกปักรักษา

หากมองย้อนถึงอดีตจนถึงปัจจุบันในเรื่องทรัพยากรน้ำ จะเกิดความเปลี่ยนแปลงมาก โดยเฉพาะเรื่องปลา มีปริมาณจำนวนลดลงตลอดจนมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สาเหตุต้นตอหลักนั้นมาจากการกระทำของมนุษย์นั่นเอง

ชุมชนบ้านแม่แวนเป็นหย่อมบ้านของหมู่บ้านท่าตาฝั่ง เขตปกครอง หมู่ 7 ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนเล็ก ๆ มี 8 ครัวเรือน จำนวนประชากร 25 คน ชุมชนตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำสาละวิน โดยมีแม่น้ำแม่แวนไหลผ่านชุมชนก่อนไหลออกสู่แม่น้ำสาละวิน เป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะแม่น้ำแวน เป็นแม่น้ำที่ไหลตลอดทั้งปีและมีความหลากหลายในระบบนิเวศทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็น เขียด ปู ปลา มีก้อนหินเรียงตามแม่น้ำ มีเศษไม้ ตอไม้ วังน้ำ ซึ่งเป็นที่อยู่ของพันธุ์สัตว์น้ำ ในแม่น้ำมีสาหร่ายที่ติดก้อนหิน มีแมลงบางชนิดในน้ำ มีต้นไม้ที่ขึ้นตามลำห้วย ลูกหล่นและมีการทิ้งใบ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำและสามารถแพร่พันธุ์ขยาย

ภาพแม่น้ำแวน
ภาพปากแม่น้ำแวน

แม่น้ำแวน มีพันธุ์ปลาที่หลากหลาย เช่น ปลา พวง ปลากด ปลาซิว ปลานวลจันทร์ ฯลฯ (สามารถศึกษาเพิ่มเติมพันธุ์ปลาได้จากหนังสือวิจัย ศึกษาแนวทางการจัดการความมั่นคงทางด้านอาหาร “ปลาสาละวิน” ด้วยภูมิปัญญาปกาเกอญอโดยแกนนำชุมชนและการมีส่วนร่วมของผู้รู้ในชุมชนริมน้ำสาละวิน) และปลาพวกนี้สามารถหาได้ตลอดปี

ปลาในแม่น้ำแวนให้คุณค่าทางด้านโภชนาการด้านอาหาร เป็นแหล่งโปรตีนให้กับคนในชุมชน ที่ผ่านมาปลาชุกชุมชน ก้าวเดินออกจากชุมชนไม่กี่ก้าว ใช้เวลาไม่กี่นาที สามารถนำปลามาประกอบอาหารบริโภคได้ทั้งครอบครัว และมีปลาไว้บริโภคตลอดปี

ปัจจุบันชุมชนเห็นการเปลี่ยนแปลงของพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะเรื่องปลา มีจำนวนปริมาณลดลง พวกเขาสัมผัสได้โดยการสังเกตจากการหาปลาได้ปริมาณน้อยและต้องออกไปหาไกลมากขึ้น และมองเห็นสิ่งผิดปกติบางอย่างคือ พฤติกรรมการหาปลาของคนภายนอกที่ชอบเข้ามาหาปลาในแม่น้ำตอนดึกของกลางคืน และสืบมาทราบว่า ใช้เครื่องซ๊อตปลา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพันธุ์สัตว์น้ำในแม่น้ำแวน และส่งผลกระทบถึงแม่น้ำสาละวินด้วย เพราะปลาในแม่น้ำสาละวินบางชนิดขึ้นไปอพยพวางไข่ในแม่น้ำสาขาในช่วงฤดูฝน และหลังจากนั้นคนในชุมชนได้ปรึกษาหารือกันเพื่อหาทางแก้ไข

สิ่งแรกที่ชุมชนได้ลุกขึ้นทำคือ การสร้างความเข้าใจ ประสานความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสนับสนุน การวางกฎระเบียบการหาปลา การวางโครงสร้าง เพื่อแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ จากนั้นได้ทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ด้วยการร่วมแรงร่วมใจระดมทุนของคนในชุมชนร่วมกับศูนย์ศิลป์สาละวิน เพื่อจัดกิจกรรมขึ้น

การจัดกิจกรรมได้วางแผนครอบคลุมถึง การอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำสาละวินด้วย จากการวางกฎระเบียบข้อหนึ่ง คือ ห้ามดักตาข่ายขวางปากน้ำแวน ซึ่งเป็นผลดีต่อปลา ตะพาบน้ำ ในแม่น้ำสาละวินสามารถขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำแวนช่วงฤดูฝนได้ สามารถลดความเสี่ยงการสูญพันธุ์ของพันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์ปลาบางชนิด

ภาพติดป้ายรณรงค์

และในวันงาน ทุกคนพร้อมใจกันมุ่งหน้าไปยังลำห้วย พิธีกรรมสืบชะตาแม่น้ำแวนได้เริ่มขึ้น และถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย  มีเพียงศาสนาเดียว คือศาสนาคริสต์ โดยในงานมีเจ้าหน้าที่ทหารพราน หน่วยงานอุทยาน คนจากชุมชนบ้านท่าตาฝั่ง ชุมชนแม่สามแลบ มาร่วมเป็นสักขีพยาน หลังจากเสร็จพิธีกรรมทางศาสนา ได้ประกาศเจตนารมร่วม แจ้งกฎระเบียบ พร้อมกำหนดขอบเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และให้กระจายการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้เป็นที่รับรู้สู่นอกชุมชน และเกิดการปฏิบัติร่วมในทางเดียวกัน จากนั้น ได้รับประทานอาหารร่วม และช่วยกันติดป้ายรณรงค์ ตั้งแต่ปากน้ำแวน ขึ้นมาจนถึงหน้าชุมชนแม่แวน

อาจเรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำร่วมกับชุมชน ถือว่าเป็นกิจกรรมที่มีความหมาย และมีคุณค่า เพื่อปลุกฝังจิตสำนึกทุกคนที่ใช้ทรัพยากรให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เพื่อรักษาความสมดุลและเกิดความยั่งยืนต่อไป


--------

Message us