โดย ดอกหญ้าสาละวิน
ประเทศไทยเป็นที่ก้าวหน้าเรื่องการเคารพเสียงประชาชนด้านการดำเนินการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่จะต้องทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment :EIA) และการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment: SIA) มากกว่านั้นสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนได้รับรองในกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ตามมาตรา 57, 58 ว่าด้วยเรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม รัฐจะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการทั้งรับฟังเสียงประชาชนและร่วมตัดสินใจ เพราะถือว่าประชาชนเป็นผู้มีส่วนได้เสียและเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน...
ใครจะรู้ว่าความก้าวหน้าการคุ้มครองสิทธิคนไทยนั้นกลับกลายเป็นช่องทางการละเมิดสิทธิของประเทศเพื่อนบ้าน เพราะทำให้นักลงทุนไทยหันไปลงทุนในประเทศที่มีกฎหมายอ่อนแอหรืออ่อนต่อการบังคับใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชน เช่น ประเทศลาว เมียนมาร์ หรือ กัมพูชา เป็นต้น
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เกิดเหตุการณ์ความเศร้าเสียใจ ความสูญเสีย ความสูญหาย ความหวาดกลัวที่เกิดต่อพี่น้องในประเทศลาว เพราะความหายนะของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ผู้คนมากกว่า 6,600 คนต้องหนีภัยความตาย และสูญหายที่ยังไม่ทราบจำนวนอีกมาก ซึ่งความหายนะที่เกิดขึ้นมิใช่เพียงประเทศลาวเท่านั้น (BBC, 2018) คุณสมพงษ์เป็นตัวแทนคนไทยคนหนึ่งได้เข้าไปในพื้นที่ลาวและกัมพูชาเพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ให้ข้อมูลว่า “รัฐบาลลาวเชื่อว่าคนลาวที่สาบสูญอาจไหลไปกับน้ำเขื่อน รัฐบาลลาวจึงได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลกัมพูชาเพื่อทำการค้นหาคนลาวในเขตพื้นที่กัมพูชา แต่รัฐบาลกัมพูชากลับปฏิเสธโดยอ้างเรื่องประเทศกำลังจะมีการเลือกตั้งไม่อนุญาตให้คนต่างประเทศเข้ามาในประเทศ...” มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ายิ่งนัก...หนีไม่พ้นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ยิ่งนับวันความหายนะที่เกิดขึ้นกลับเงียบลงทุกๆวัน แน่นอนเราจะไม่ได้ยินเสียงโอดโอย ความรู้สึก ความต้องการของประชาชนลาว สังคมภายนอกไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่เกิดเหตุอีกต่อไป ซึ่งเขื่อนดังกล่าว บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง สัญชาติไทยร่วมลงทุนด้วย แต่กลับปัดความรับผิดชอบต่อหายนะที่เกิดขึ้นว่าเป็นภัยภิบัติทางธรรมชาติ ไม่ได้เกิดความบกพร่องจากกระบวนการก่อสร้างของเขื่อน ความเงียบในประเทศลาวนั้นน่ากลัวยิ่งนัก ไม่ต่างกับน้ำนิ่งไหลลึก ที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเกิดการละเมิดสิทธิ์ในประเทศลาวอย่างไรบ้าง
ทุกวันนี้มีการลงทุนข้ามชาติเป็นเรื่องปกติและชอบด้วยกฎหมาย แต่การลงทุนข้ามชาติกลับไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบทางตรงและทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นในระหว่างประเทศหรือข้ามชาติ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 (ใคร)ได้มีโอกาสลงพื้นที่แลกเปลี่ยน(หรือเวทีอะไรดูวัตถุประสงค์)กับพี่น้องชาวบ้าน อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแตกในลาวโดยทางอ้อมและการปล่อยน้ำจากเขื่อนน้ำงึมโดยตรง เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกติของทุกปีที่น้ำจะท่วมสวนปาล์มในพื้นที่ แต่ปีนี้แตกต่างจากทุกๆปีเพราะระดับน้ำไม่มีท่าทีจะลดลง สาเหตุมาจากฝนตกอย่างต่อเนื่อง การปล่อยน้ำจากเขื่อนน้ำงึมและน้ำจากเขื่อนแตกเอ่อขึ้นมาแม่น้ำสาขา จึงส่งผลให้ความเร็วการลดระดับน้ำช้าลง และน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลาเกือบสามเดือนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ลุงสุดสาคร เจ้าของสวนปาล์มบอกว่า “น้ำที่ไหลมามีลักษณะขุ่นข้น มีกลิ่นเหม็น ท่วมนาน ใช้เวลาเกือบสามเดือนกว่าน้ำจะลด สวนปาล์ม 10 ไร่ ตอนนี้เสียหายไปมากกว่า 90 เปอร์เซ็น และปลาที่เลี้ยงในบ่อก็ตาย จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ” ลุงสุดสาครไม่อยากเสี่ยงที่จะฟื้นฟูสวนปาล์ม เพราะไม่มั่นใจว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกหรือไม่ ถ้าน้ำท่วมตามฤดูกาลใช้เวลาเพียง2-3 วัน น้ำก็ลดระดับ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดโดยธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นโดยการกระทำมนุษย์ แต่กลับไม่มีใครรับผิดชอบ
จากเหตุการณ์ดังกล่าวเราเห็นได้ชัดว่า ความหายนะจากโครงการพัฒนาข้ามชาติ...ที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำของมนุษย์ แต่เรายังขาดกลไกการป้องกันและเรียกร้องความเสียหาย การละเมิดสิทธิ์จากโครงการพัฒนาข้ามชาติ เรามีโครงการพัฒนาข้ามชาติได้ แต่จำเป็นจะต้องมีกลไกเพื่อป้องกันความเสียหายระหว่างประเทศเช่นกัน เช่น กฎหมายการลงทุนข้ามชาติ กลไลเรียกร้องความเป็นธรรมจากโครงการพัฒนาข้ามชาติ และกลไกประเมินผลกระทบข้ามชาติ เป็นต้น เราจะปล่อยให้โครงการพัฒนาข้ามชาติละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกนานเท่าไหร่? ใครรับผิดชอบความเสี่ยงและผลกระทบจากโครงการพัฒนาข้ามชาติ? มีกลไกอะไรบ้างที่เป็นรูปธรรมที่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยาจากโครงการพัฒนาข้ามชาติ? ใครจะเป็นคนสร้างกลไกรับฟังเสียงประชาชน? ประชาชนจะเข้ามีส่วนร่วมในการสร้างกลไกดังกล่าวได้อย่างไร?
ข้อมูลอ้างอิง
(27 Jul 2018). เข้าถึงได้จาก BBC: https://www.bbc.com/thai/international-44936818
--------