สาละวิน สายน้ำแห่งชีวิต ตอน โรงพักเก่าท่าตาฝั่ง

สุวัต ษมาจิตโอบอ้อม เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสาละวิน

ภาพโรงพักเก่าท่าตาฝั่งแห่งที่สอง

โรงพักเก่าท่าตาฝั่งถือว่าเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งบนริมน้ำสาละวิน และเชื่อว่าหลายๆ คนที่อาศัยอยู่ริมน้ำสาละวินไม่มีโอกาสได้ชมความสวยงามที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นทางการออกแบบและการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการสร้าง และแน่นอนว่าสถานที่สำคัญเช่นนี้คงต้องมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ

โรงพักเก่าท่าตาฝั่งแห่งแรกที่สร้าง จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนบ้านท่าตาฝั่งนั้น คาดว่าสร้างขึ้น ตรงกับสมัยราชกาลที่ 5 บริเวณจุดที่สร้างนั้น คือ บริเวณชุมชนบ้านท่าตาฝั่ง (ปัจจุบันไม่มีหลักฐานใดปรากฏ) หลังจากนั้นไม่นานได้ทำการย้ายสถานีและสร้างอาคารใหม่ด้วยเหตุผลเล่าลือกันว่า พื้นที่จุดนั้นเจ้าที่แรง ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ต่างผวาเมื่อยามพระจันทร์เต็มดวง และเหตุผลที่สำคัญอีกเหตุผลหนึ่งคาดว่า จุดที่สร้างดังกล่าวยังไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์ จึงย้ายสถานีและสร้างขึ้นใหม่ทางตอนใต้ ห่างจากจุดเดิม 1 กิโลเมตร  

ภาพแผนที่ตำแหน่งจุดที่สร้างโรงพักเก่าแห่งแรกและแห่งที่สอง
ภาพภายในอาคาร โรงพัก

จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมด้านประวัติความเป็นมาจากการเรียบเรียงของสถานีภูธรท่าตาฝั่งที่สร้างขึ้นแห่งที่สอง ดังนี้ สถานีตำรวจภูธรบ้านท่าตาฝั่ง เดิมเรียกว่า “โรงพักเก่า” ทำการสร้างเมื่อปีพ.ศ. 2444 โดยชาติตะวันตกสัมพันธมิตรโรงพักสมัยนั้นขึ้นกับสังกัดกองเมืองที่ 17 กองตำรวจมณฑลที่ 8 ของมณฑลพายัพ การก่อสร้างโรงพักเก่าท่าตาฝั่งในสมัยนั้น พอสันนิฐานได้ว่าน่าจะมาจากเหตุผลสองประการ คือ หนึ่ง เกิดจากการที่มีข้อบังคับเกี่ยวกับการห้ามจัดกองกำลังทหารประชิดติดชายแดน ทำให้ทางรัฐบาลสมัยนั้นก่อสร้างที่ทำการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่แทนกองกำลังทหาร สอง เป็นเหตุผลเพื่อความปลอดภัยของกิจกรรมการทำไม้ระหว่างไทยและพม่า ซึ่งใช้แม่น้ำสาละวินเป็นเส้นทางการทำไม้

ปีพ.ศ. 2523 กรมตำรวจได้พิจารณาแล้วเห็นว่าโรงพักเก่าท่าตาฝั่งสมควรที่จะได้รับการก่อสร้างใหม่ โดยย้ายสถานีในปีพ.ศ. 2525  ที่ตั้ง หมู่ 6 บ้านห้วยโผ ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน บนเนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา และใช้ชื่อว่า “สถานีภูธรตำบลท่าตาฝั่ง”เป็นสถานีโรงพักแห่งที่ 3

ย้อนไปที่ โรงพักเก่าท่าตาฝั่งในอดีตแห่งที่สอง จากหลักฐานข้อมูลการบันทึกการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสมัยนั้นจะต้องใช้การเดินเท้าเพียงอย่างเดียว โดยใช้เส้นทางแยกที่หมู่บ้านจอมกิตติ หมู่ที่ 13 ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ใช้เวลาในการเดินทาง 2 วัน กับอีก 1 คืน ต้องผ่านลำห้วยภูเขาด้วยความยากลำบาก โดยจะพักแรมค้างคืนที่ศาลาแม่กองคา ปัจจุบันศาลาดังกล่าวยังคงอยู่

ลุงธุเระ นักปราชญ์ชุมชน อายุ 62 ปีเศษ ได้เล่าประวัติโรงพักเก่าท่าตาฝั่งแห่งที่สองอย่างน่าสนใจมาก ซึ่งเรื่องราวต่างๆ ในอดีตเขาได้ยินเล่าขานมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนอีกทอดหนึ่ง ลุงธุเระเล่าว่า ในอดีตโรงพักเก่าแห่งที่สองเป็นจุดตรวจแห่งเดียวในพื้นที่ริมน้ำสาละวิน สมัยนั้นมีการค้าขายเพชร พลอย หยก ทองคำ ซึ่งนำมาจากรัฐกะเหรี่ยง ในประเทศสหภาพเมียนมาร์ คนที่ทำการค้าขายต้องผ่านจุดตรวจ บางคนนอนพักที่โรงพักเก่าท่าตาฝั่งแห่งนี้ เพื่อมุ่งหน้าขายสินค้าไปยังเมืองไมลองยี (อำเภอแม่สะเรียง) และเดินทางต่อ โดยพักระหว่างทางที่ศาลา ทำให้นึกย้อนภาพในอดีตว่า

“ที่แห่งนี้ ถึงแม้ตั้งอยู่กลางดงป่าร้างบนริมน้ำสาละวิน ซึ่งมีความโดดเดี่ยวไร้บ้านเรือนชุมชนใกล้เคียง แต่ครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาเพื่อทำมาค้าขายและสัญจรไปมาหาสู่กันระหว่างสองแผ่นดิน”

จะเห็นได้ว่าโรงพักเก่าแห่งนี้ นอกจากเป็นจุดตรวจแล้วยังเป็นที่พึ่งพิงอาศัยของผู้ที่สัญจรไปมาอีกด้วย โรงพักเก่าท่าตาฝั่งนั้นมีความโดดเด่น ลักษณะการสร้าง หลังคามุงด้วยสังกะสี ตัวอาคาร เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง (ปัจจุบันยังปรากฏอยู่ในสภาพที่ดี) ใช้ไม้หนามาก หนาถึงประมาณ 3-4 นิ้ว การออกแบบอาคารนอกจากใช้เพื่อเป็นที่ทำการแล้ว ยังออกแบบเหมาะสำหรับเป็นป้อมเกราะกำบัง ข้างฝาผนังมีช่องเจาะเป็นรูสี่เหลี่ยม ทั่วทั้งหลังสามารถสอดหัวกระบอกปืนเพื่อยิงโต้ตอบได้

ภาพฝาผนังเจาะรูสี่เหลี่ยมโรงพักเก่าท่าตาฝั่งแห่งที่สอง

ด้วยสถานการณ์ในช่วงนั้นเราคงเข้าใจดี เพราะมองไปยังอีกฟากฝั่งหนึ่งเป็นประเทศสหภาพเมียนมาร์ พบร่องรอยสร้างฐาน และร่องรอยที่จอดเครื่องบินอีกด้วย คาดว่าเป็นฐานของทหารอังกฤษ และต่อมาเมื่อประเทศเมียนมาร์ได้รับเอกราชจากรัฐบาลอังกฤษ รัฐบาลทหารเมียนมาร์ได้มาสร้างฐานและมาประจำการแทน แน่นอนว่าการรักษาความมั่นคงระหว่างชายแดนสมัยนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งด้วยการอาศัยกองกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายเดียว

ตลอดระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาประจำการ มีเหตุการณ์สำคัญและถือว่าเป็นข่าวร้าย คือเจ้าหน้าที่ตำรวจตายนายหนึ่ง ซึ่งถูกยิงมาจากฝั่งประเทศเมียนมาร์ คนในชุมชนที่ทันเหตุการณ์ครั้งนั้นคนในชุมชนมึนงงกันเลยที่เดียว เพราะมีแม่น้ำสาละวินขวางก้านซึ่งระยะยิงไกลมาก คาดว่าเหตุเกิดช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2510

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจย้ายที่ทำการไปยังสถานีโรงพักแห่งที่ 3 (ที่ทำการในปัจจุบัน) ปีพ.ศ. 2528 โรงพักเก่าแห่งที่สองจึงร้างมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันโรงพักเก่าแห่งที่สองนี้ ยังคงสภาพดี โดยได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมในปีพ.ศ. 2557 ภายใต้ความดูแลของสถานีตำรวจภูธรท่าตาฝั่ง 

ภาพโรงพักเก่าท่าตาฝั่งแห่งที่สอง หลังจากซ่อมแซม

โรงพักเก่าท่าตาฝั่งแห่งที่สองตั้งอยู่บนริมน้ำสาละวิน ตำแหน่งที่ตั้งเป็นบริเวณจุดโค้งของแม่น้ำสาละวินอีกที่หนึ่ง ภาษาพม่าเรียกจุดโค้งตรงนี้ว่า “ดากวิน” แปลว่า มีดโค้ง ซึ่งมีตำนานเล่าขานสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

สามารถศึกษาอ่านในหนังสือวิจัยไทบ้าน ชื่อว่า “สาละวิน บันทึกแม่น้ำและชีวิตในกระแสการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ชุมชนมีส่วนร่วม

และจุดโค้งที่นี่เอง ครั้งหนึ่งเคยถูกปักหมุดไว้เพื่อสร้างเขื่อน ถูกตั้งชื่อว่า เขื่อนดากวิน ซึ่งเป็นโครงการเขื่อน 1 ใน 5 แห่ง บนแม่น้ำสาละวิน ปัจจุบันถูกยกเลิกไป คือ เขื่อนดากวิน เขื่อนเว่ยจี เขื่อนยาวาติ๊ด แต่ยังคงเหลืออีกสองแห่ง คือ เขื่อนเมืองโต๋น (ท่าซาง) ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กองกำลังชนกลุ่มน้อย ในประเทศสหภาพเมียนมาร์ แต่ถึงอย่างไร ถือว่ายังเป็นความโชคดีที่เขื่อนดากวินถูกยกเลิกไป และโรงพักเก่าท่าตาฝั่งแห่งนี้อายุนับรวมเกือบร้อยปี ถือเป็นอนุสรณ์อยู่คู่กับแม่น้ำสาละวิน เป็นโอกาสในการรื้อฟื้นการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอีกครั้ง เพื่อให้คนภายนอกได้มาเที่ยวสัมผัส ตลอดจนให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์เรื่องราวบนแม่น้ำสาละวิน สำนึกรักบ้านเกิดและปกป้องแม่น้ำสาละวินให้คงไหลอย่างอิสระต่อไป

--------

Message us