สาละวิน สายน้ำแห่งชีวิต ตอน ชุมชนริมน้ำสาละวินคือแหล่งพื้นที่ความมั่นคงด้านอาหาร

สุวัต ษมาจิตโอบอ้อม เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสาละวิน

ภาพ พืชผักผลไม้ที่ชุมชนสาละวินปลูก

พื้นที่ชุมชนริมน้ำสาละวินเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตอาหารที่ให้ความมั่นคง เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรดิน-น้ำ-ป่า ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนริมน้ำสาละวินจึงเหมาะแก่การทำเกษตรกรรมและการทำประมงระดับครัวเรือน

คนในชุมชนที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม โดยการทำนาตามบริเวณพื้นที่ราบริมลำห้วย ทำสวนตามไหล่เขา ทำเกษตรริมน้ำ ชุมชนส่วนหนึ่งมีอาชีพทำประมงและเลี้ยงสัตว์ สำหรับการดำรงวิถีชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่ายและยังคงพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลักควบคู่กับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติทำให้ในพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ริมฝั่งมีเกษตรริมน้ำ บนบกมีข้าวไร่และพืชผักนานาชนิด ในป่ามีอาหารที่หลากหลาย พืชบางชนิดเป็นทั้งอาหารและยาสมุนไพร และการจัดการระบบการผลิตอาหารที่ดีทำให้ชุมชนจึงมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคในรอบปีโดยไม่จำเป็นต้องออกมาซื้ออาหารจากในเมืองและพึ่งพาอาหารจากอุตสาหกรรม

ภาพ สวนโซนปลูกไม้ผล และปลูกบุกแซม
ภาพ สวนโซนปลูกไม้ผล และปลูกบุกแซม
ภาพเกษตรริมน้ำสาละวิน
ภาพ เกษตรริมน้ำสาละวิน

ในช่วงฤดูฝนเป็นฤดูกาลที่มีความอุดมสมบูรณ์ มองไปทางไหนเขียวขจี ในพื้นที่ไร่นาท้องทุ่งมีข้าวพันธุ์หลากหลาย ตามป่าตามเขาเต็มไปด้วยพืชผักสมุนไพรนานาชนิด ในพื้นที่แหล่งธรรมชาติตามแม่น้ำลำห้วยมีกุ้งหอยปูปลา สัตว์น้ำเล็กน้อยใหญ่ชุกชุม และในช่วงฤดูกาลนี้ถือว่าเป็นโอกาสทองของคนทำประมงในแม่น้ำสาละวิน

ภาพ สนทนากับลุงสุคำ

ลุงสุคำเป็นชายวัยกลางคนอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านท่าตาฝั่งซึ่งเป็นชุมชนตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำสาละวิน ลุงสุคำถือว่าเป็นบุคคลตัวอย่างคนหนึ่งจากในชุมชนสาละวินที่มีการจัดการพื้นที่เพาะปลูกเพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร เขาเป็นคนชอบปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก พืชผักที่เขาปลูกมีหลากหลาย เช่น พริก มะเขือ แตง กล้วย ถั่วไร่ ฟักทอง งา มันประเภทต่าง ๆ ฟักเขียว รวมทั้งพืชสมุนไพร เช่น ขมิ้น ใบกระเพรา ใบโหรพา ตระไคร้ ฯลฯ  มีพืชบางชนิดสามารถบริโภคได้ตลอดทั้งปี เช่น พริก เผือกมัน งา และถั่วพุ่ม เป็นต้น

ภาพ งาและถั่วพุ่มดำ ที่นิยมปลูกในชุมชนบ้านท่าตาฝั่ง
ภาพ บุกซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ชาวบ้านปลูกแซมใต้ไม้ยืนต้น

สำหรับในพื้นที่สวน ลุงสุคำได้มีการวางแผนจัดการพื้นที่เพาะปลูกโดยมีการแบ่งโซนพื้นที่ไว้อย่างชัดเจน เขาปลูกข้าวในนา ปลูกไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง มะปราง ส้มโอ มะละกอ ไม้ไผ่ ตามหัวไร่ปลายนา และได้ปลูกบุกซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้โดยการปลูกแซมใต้ไม้ยืนต้น

จากการวางแผนเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ เขาจึงมีมีอาหารที่เพรียกพร้อม ให้คุณค่าทางโภชนาการครบตามหลักอาหาร 5 หมู่ มีอาหารกินได้ตลอดปี

 “วันไหนอยากินผักเข้าไปในป่าในสวน วันไหนอยากกินปลาเข้าไปในลำห้วย ย่างเดินไม่กี่ก้าวก็ถึง ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ปลามาแล้ว”

จากการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าและการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความผูกพัน เขากลายเป็นคนรักษ์ทรัพยากรและธรรมชาติ เขาไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เพราะจะทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ มีสารเคมีตกค้าง ช่วงฤดูฝนจะถูกชะล้างลงในแม่น้ำลำห้วย ป่าเสื่อมโทรม จะส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหาร

ทุกวันนี้อาหารดี ๆ ปลดภัยมีน้อยลง ต่อให้มีเงินสักแค่ไหนก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรและการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมในการผลิตที่เปลี่ยนไปจากวิถีดั้งเดิม ความมั่นคงด้านอาหารคือความมั่นคงของชีวิต ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในชุมชนถือเป็นต้นทุนที่สำคัญ แต่การรักษาทรัพยากรและการตระหนักถึงสุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญกว่า ชุมชนต้องรักษาพื้นที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์และรักษาพื้นที่ปลอดภัยต่อไป

--------

Message us